อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม

อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม



ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยมีอาณาเขตดังนี้
  ทิศเหนือ จดเขาจองจันทร์ อำเภอกันตัง คลองเมง และคลองลำยาว ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
  ทิศใต้ จดช่องแคบมะละกา อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง
  ทิศตะวันออก จดควนดินแดง ควนเม็ดจูน ควนลุ และควนแดง
  ทิศตะวันตก จดเกาะไหง เกาะมัง ช่องแคบมะละกา

ลักษณะภูมิประเทศ
   อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมประกอบด้วย ภาคพื้นดินและภาคพื้นน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางด้านทิศ ตะวันตกของภาคใต้ โดยเป็นพื้นดิน 58,530 ไร่ และพื้นน้ำในทะเลอันดามันมหาสมุทรอินเดีย 85,762.5 ไร่ ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พื้นดินชายฝั่งทะเลรวมทั้งเกาะมุกต์ เกาะกระดาน เกาะแหวน เกาะเชือก เกาะปลิง เกาะเมง บริเวณนี้ประกอบด้วย ภูเขาหินปูนสูงชัน ซึ่งทางตอนเหนือด้านตะวันออกมีเทือกเขาจองจันทร์ เทือกเขาควนเม็ดจูน เทือกเขาควนแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหลายสายที่มารวมกันเป็นคลองบางสัก ไหลลงสู่แม่น้ำตรัง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยทุ่งหญ้า ป่าดงดิบ ป่าชายเลน ป่าชายหาด และหาดทราย ส่วนภาคพื้นน้ำ เป็นห้วงน้ำลึก มีแนวปะการังเป็นบริเวณกว้างตามไหล่เขาที่มีความลาดชันสูง แนวปะการังจะปรากฎอยู่บนเกาะแหวน เกาะเชือก เกาะกระดาน

ลักษณะภูมิอากาศ
   อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้รับอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้ฝนตกชุกตลอดปี ทำให้เกิดฤดู 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ เดือนมกราคม?เมษายน ส่วนฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม?ธันวาคม ค่าอุณหูมิสูงสุดเฉลี่ยรายเดือน เท่ากับ 35.2 องศาเซลเซียส ในเดือนมีนาคมและเมษายน ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย รายเดือนเท่ากับ 21.2 องศาเซลเซียส ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ มีค่าความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีเท่ากับ 80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี เท่ากับ 2187.3 มิลลิเมตร เดือนที่มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุด คือ เดือนกันยายน เท่ากับ 158.8 มิลลิเมตร

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า
   พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ เป็น 5 ประเภท คือ
   ป่าดิบชื้น พบป่าประเภทนี้ครอบคลุมพื้นที่ ในเขตพื้นดินชายฝั่งตอนในบริเวณเขาน้ำราบ บริเวณบ่อน้ำร้อน บริเวณทิศตะวันออกของหาดทรายเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเกาะมุกต์ พันธุ์ไม้ที่พบโดยทั่วไป ได้แก่ ยางวาด ยูง ยางมันใส และไม้ชั้นล่างเป็นพวกที่พบในเขต ป่าดิบชื้นโดยทั่วไป เช่น หวาย เถาวัลย์ เป็นต้น
   ป่าผสมบริเวณภูเขาหินปูน พบอยู่ด้านทิศตะวันตกของเกาะมุกต์เกาะเชือก เกาะแหวน เกาะปลิง เขาแบนะ เขาเมง เขาหยงหลิง เขาเจ้าไหม ประกอบด้วยพืชพรรณไม้ที่ขึ้นเฉพาะพื้นที่ เช่น จันทน์ผา เป้ง สลัดได กล้วยไม้ชนิดต่างๆ เป็นต้น
   ป่าชายหาด พบบริเวณทิวเขาชายทะเลบริเวณเกาะมุกต์ เกาะเจ้าไหม เกาะเมง พันธุ์ไม้ที่ สำคัญ เช่น สนทะเล เมา กระทิง เป็นต้น
   ป่าชายเลน พบกระจายอยู่ตามอ่าวของเกาะมุกต์ พืชพรรณที่สำคัญได้แก่ โกงกาง โปรง ตะบูน เป็นต้น ด้านหลังป่าชายเลนมีพืชพรรณไม้น้ำกร่อยขึ้นอยู่ เช่น จาก หงอนไก่ทะเล เป็นต้น
   สังคมพืชน้ำ พบสังคมพืชน้ำประเภท หญ้าทะเล สาหร่าย แพลงตอน โดยเฉพาะท้องทะเล ของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่




สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
   สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ ได้แก่ พะยูน เลียงผา ค่างดำ เก้ง และกระจงเล็ก    ส่วนสัตว์ผู้ล่าที่พบเห็นได้ยาก ได้แก่ แมวดาว ส่วนที่พบเห็นตัวและร่องรอยได้ง่าย ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น ฯลฯ
   นก พบนกที่มีสภาพใกล้จะสูญพันธุ์ 2 ชนิด ได้แก่ นกกระสาคอดำ และนกตะกรุม นกชายเลนอพยพที่มีสถานภาพหายาก ได้แก่ นกยางจีน นกทะเลขาเขียวลายจุด และนกนางนวลแกลบพันธุ์จีน
   สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าบึงหัวเหลือง งูหลาม และงูเหลือม
   สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบอ๋อง กบนา อึ่งน้ำเต้า เป็นต้น

บ้านพักและบริการ
   อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มีบ้านพัก สถานที่กางเต้นท์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยว
   ถ้ำเจ้าไหม อยู่ลึกเข้าไปตามคลองเจ้าไหม ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 18 กิโลเมตร ซึ่งสามารถแล่นเรือเข้าปากถ้ำได้ ถ้ำเจ้าไหมมีหลายชั้นซับซ้อน ชั้นล่างเป็นถ้ำกว้างที่มีหินงอกหินย้อยเหมือนเสาต้นใหญ่ๆ ไต่หน้าผาไปทางขวาอีกประมาณ 100 เมตร จะถึงถ้ำชั้นบน ตามผนังถ้ำมีลักษณะเหมือนเปลือกหอยเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ และยังมีแอ่งน้ำใสเย็นก่อน เข้าสู่ชั้นในถ้ำ
   บ่อน้ำร้อน ตั้งอยู่บริเวณบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 12 กิโลเมตร น้ำในบ่ออุ่นจัด อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ฟองพรายที่ผุดพลุ่งขึ้นมาเป็นครั้งคราวมีกลิ่นจางๆ ของกำมะถัน แทรกขึ้นมาด้วย
   เกาะกระดาน ไปทางด้านตะวันตกของเกาะมุกต์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 12 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะถึงเกาะอีกแห่งหนึ่งที่มีลักษณะเหมือนภูเขาห้าลูกเป็นพืดเรียงตัวติดต่อกัน นั่นคือ เกาะกระดาน ร้อยละ 70 ของพื้นที่เกาะเป็นภูเขาจุดสูงสุด 100 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีแนวปะการังแข็งตลอดชายฝั่งของเกาะกระดาน มีประการังอ่อนและกัลปังหา ทางด้านทิศใต้ของเกาะ ปะการังที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ปะการังเขากวาง ปะการังเขากวางก้านยาว ปะการังเห็ด ปะการังสมอง ปะการังอ่อน
   เกาะเจ้าไหม ห่างจากตัวจังหวัดตรัง 59 กิโลเมตร หากเลียบชายทะเลมาทางปากเมง และ 47 กิโลเมตร หากผ่านทาง กันตัง เกาะเจ้าไหมถูกโอบล้อมด้วยทะเลด้านหนึ่ง และลำคลองอีกด้านหนึ่ง มีเขารูปกระโดงฉลามที่ โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์
   เกาะเชือก เป็นเกาะเล็กๆ ที่อยู่ในวงล้อมของเกาะมุกต์และเกาะกระดานอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 16 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 2 เกาะ ที่อยู่ติดกัน เกาะที่อยู่ด้านตะวันตก มีพื้นที่ประมาณ 0.08 ตารางกิโลเมตร เกาะที่อยู่ด้านตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 0.1 ตารางกิโลเมตร จุดสูงสุด สูง 60 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นเกาะที่มีสัมปทานรังนก สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น มีปะการังแข็ง ปะการังอ่อน ดอกไม้ทะเล กัลปังหา สลับกันอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง ซึ่งจะมีแนวปะการังค่อนข้างสมบูรณ์มาก
   เกาะมุก ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 3.5 กิโลเมตร เป็น เกาะใหญ่อีกเกาะหนึ่งในน่านน้ำตรัง ด้านทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของถ้ำมรกต หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ถ้ำน้ำ ที่มีทางเข้าเป็นโพรงเล็กๆ พอเรือลอดได้ในช่วงน้ำลง ความคดเคี้ยวและความมืดในโพรงถ้ำแคบๆที่มี ช่วงยาว 80 เมตร คือนาทีแห่งความระทึกใจ แต่ความตื่นตาตื่นใจจะเข้ามาแทนที่ทันทีที่ถึงปากถ้ำที่มี น้ำทะเลใสสีมรกต หาดทรายขาวสะอาด และพรรณไม้บางชนิด สภาพป่าบนภูเขาสูงชันเป็นป่าดิบชื้น ใต้หัวแหลมเกาะมุกต์เป็นป่าชายเลน จากทะเลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีปะการังอ่อนหลากสี ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นแนวหญ้าทะเล
   หาดเจ้าไหม อยู่ถัดจากหาดหยงหลิง เหมาะในการเล่นน้ำเพราะน้ำตื้นและมีบริเวณกว้าง เบื้องหน้าจะมองเห็นเกาะลิบงอยู่ไม่ไกลนัก ส่วนด้านหลังเป็นดงสนร่มรื่น สุดชายหาดคือโขดเขาอีกด้านหนึ่งของเขากระโดงฉลาม ในยามน้ำลงอาจเดินลัดเลาะโขดหินไปสู่เวิ้งอ่าวเล็กๆ อีกแห่งหนึ่งที่เรียกว่า อ่าวปอ
   หาดหยงหลิง ห่างจากเขากระโดงฉลามมา 5 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่กว้างเหมาะที่จะมาเข้าค่ายพักแรม แต่มีข้อควรระมัดระวังในเรื่องการเล่นน้ำเนื่องจากน้ำลึกและคลื่นจัด
   หาดหยงหลิง-หาดสั้น อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 15 กิโลเมตร ด้านทิศใต้ที่ต่อกับหาดยาว เป็นหาดทรายรูปโค้งขนาน ไปกับดงสนที่เรียกว่า หาดหยงหลิง สุดชายหาดเป็นเขาสูงที่เต็มไปด้วยเวิ้งและโพลงถ้ำ ซึ่งสามารถเดินลัดเลาะออกไปสู่หน้าผาริมทะเลได้ จากหาดหยงหลิงมีถนนผ่านไปทางด้านเหนือจะมีชายหาดอีกแห่งหนึ่งคนละฟากเขาที่เรียกว่า หาดสั้น และไกลสุดสายตาทางด้านเหนือคือ แหลมหยงหลำ







การเดินทาง
   รถโดยสารประจำทาง การเดินทางโดยรถยนต์โดยสารปรับอากาศ ขึ้นรถที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ หรือนักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินทางโดยรถไฟ
   จากจังหวัดตรังไปตามทางหลวงหมายเลข 4046 (สายตรัง-สิเกา) ถึงกิโลเมตรที่ 30 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4162 สู่หาดปากเมง เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จากหาดปากเมงเลี้ยวซ้ายไปตามถนนเลียบชายหาด อีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการรถตู้ประจำทางได้โดยมีอัตราค่าโดยสาร ราคา 50 บาท การเดินทางไปตามเกาะต่างๆ ให้ติดต่อเช่าเหมาเรือที่ท่าเรือปากเมง ท่าเรือหาดยาว และท่าเรือควนตุ้งกู




สถานที่ติดต่อ
   อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หมู่ 5 บ้านฉางหลาง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 92150




ที่มา : http://www.trangzone.com/travel_detail.php?ID=12

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น