ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย


ต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย




            ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านซึ่งท่านพระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นผู้นำเข้ามาให้ประชาชนปลูก ภายใต้กุศโลบายอันแยบยลที่ว่า ความร่ำรวยในอาชีพด้านการเกษตรนั้น คือ ความร่ำรวยของประชาชนโดยทั่วไป และนั่นก็คือความมั่นคงของชาติอันเป็นส่วนรวมคำพูดเหล่านี้คือความคิดของท่านพระยารัษฎาฯ ที่ได้กระทำเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง จนมีหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ให้เห็นจนมาถึงยุคปัจจุบัน
ประวัติความเป็นมา
            เมื่อผ่านถนนตรังคภูมิ ตรงหน้าสหกรณ์การเกษตรอำเภอกันตัง จะเห็นป้ายต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทย นักท่องเที่ยวทุกๆ ท่านจะมีคำถามในใจว่า ต้นยางต้นนี้เป็นต้นแรกจริงหรอ ?” คำถามเหล่านี้จึงไม่แปลกสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้นำเที่ยว เพราะเป็นคำถามที่ใครไปใครมาก็ต้องถามคำถามนี้ ต้นยางต้นนี้จะเป็นต้นแรกจริงหรือไม่ต้องย้อนกลับไปดูว่าที่ต้นยางพาราต้นแรก ที่มีอยู่ในช่วงปัจจุบันนี้เดิมทีเป็นอะไรมาก่อน
            บริเวณต่อจากต้นยางพาราเข้าไปเดิมทีเป็นบริเวณบ้านพระสถลสถานพิทักษ์ อดีตผู้ว่าราชการเมืองตรัง พ.ศ.2448-2455 หลานชายพระยารัษฎาฯ พระสถลฯ เป็นคนสำคัญในการนำยางพาราเข้ามาปลูก
            เมื่อสมัยที่พระยารัษฎาฯ เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง ได้ไปเห็นการทำสวนยางพาราในชวาและมลายูเห็นว่าเป็นอาชีพที่ดี จึงมีความคิดที่จะนำมาปลูกในเมืองตรังบ้าง แต่ในช่วงแรกนั้นได้มีอุปสรรค์ในการนำพันธุ์ยางเข้ามาในเมืองตรัง เป็นเพราะว่าพวกดัชท์และอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมในช่วงเวลานั้นหวงยางพาราเป็นอย่างมาก และต่อมาพระสถลฯได้แอบเอาลูกยางพาราใส่มาในกล่องขนมปัง เมื่อได้เมล็ดมาแล้วก็นำไปปลูกไว้ที่บริเวณบ้านเป็นสวนยางพาราสวนแรกของเมืองตรัง ประมาณ พ.ศ. 2442  ต่อมาพระยารัษฎาฯ ก็ส่งเสริมการปลูกยางพาราไปทั่วทั้งเมืองตรัง เมื่อไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแล้วก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็สามารถติดต่อเชื้อพันธุ์ยางจากมลายูได้โดยผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ชาวบ้านในเมืองตรังได้รับแจกเมล็ดพันธุ์ยางเลยเรียกกันว่ายางเทศาจึงทำให้พระยารัษฎาฯกลายเป็นบิดาแห่งยางพาราไทยอย่างแท้จริง
            ต่อมาในปี พ.ศ.2451 หลวงราชไมตรี ได้นำพันธุ์ยางไปปลูกในภาคตะวันออกที่จังหวัดจันทบุรีบ้าง เพื่อที่จะช่วยให้อาชีพในการทำสวนยางเกิดความแพร่หลายและขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนมีผู้พยายามที่จะนำพันธุ์ยางไปปลูกทั้งในภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือรวมไปถึงภาคเหนือด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากต้นยางเก่า ๆ ที่ขึ้นอยู่หลายท้องที่ทั่วประเทศไทย

            จนถึงในช่วงปัจจุบันทางเทศบาลเมืองกันตังได้ประกาศว่าเมืองกันตังเป็นแหล่งก่อกำเนิดของอาชีพการทำสวนยางพาราในประเทศไทย จึงได้ทำให้ในปัจจุบันได้มีต้นยางพาราที่เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ผ่านต้นยางพาราต้นแรกของประเทศไทยต้นนี้


แผนที่การเดินทาง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น